โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อย ลักษณะรอยโรคเป็นผื่นแดง นูน หนา มีสะเก็ดสีขาวลอกเป็นขุยจำนวนมาก และมักจะเป็นๆ หายๆ โดยพบผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วโลก โดยสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่พบในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมากกว่า สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงอุบัติการณ์ และความชุกของโรคในประชากรทั่วไป จากสถิติผู้ป่วยที่มาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่แผนกผิวหนังในโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ พบได้ประมาณร้อยละ 10
ทำไมจึงเป็นโรคสะเก็ดเงินและโรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน แต่มีหลักฐานสนับสนุนว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องของระบบอิมมูนร่วมกับความผิดปกติของสารพันธุกรรม ที่กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเจริญเร็วกว่าปกติ จากที่ใช้เวลา 28-30 วัน ในการเจริญเต็มที่และหลุดออกไป แต่ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน วงจรนี้จะลดลงเหลือเพียง 2-3 วัน ทำให้ผิวหนังมีการหนาตัวขึ้น และมีสะเก็ดเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่ การเสียดสี การกระทบกระแทก แกะเกาบาดแผล รวมไปถึงปัจจัยทางจิตใจและสังสม ความเครียด การดื่มสุรา โรคติดเชื้อ คออักเสบ สารเคมีบางชนิด ได้แก่ ยาลดความดันชนิดต้านเบต้า ยาทางจิตเวช ยาต้านมาลาเรีย เป็นต้น สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินเกิดการกำเริบได้
ผื่นสะเก็ดเงินเป็นอย่างไร
รอยโรคสะเก็ดเงินที่พบบ่อยที่สุด คือ มากกว่า 80% ของผู้ป่วย มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง นูน หนา เป็นรูปร่างกลม และมีสะเก็ดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบผื่นผิวหนังได้อีกหลายลักษณะ คือ
– ผื่นขนาดเล็กๆ เป็นตุ่มนูนแดง มีขุยกระจายทั่วไป ในบริเวณลำตัว แขน และขา
– ผื่นเป็นตุ่มหนองตื้นบนรอยโรคสีแดง
– ผื่นแดงอักเสบบริเวณซอกรักแร้ ซอกขา
– ผื่นแดงลอกทั้งตัว
โดยผื่นสะเก็ดเงิน จะพบได้บ่อยที่บริเวณ หนังศีรษะ ผิวหนังที่มีการเสียดสี แกะ เกา เช่น ศอก เข่า ลำตัว ก้นกบ และยังสามารถพบได้ทุกแห่งของร่างกาย ได้แก่ เล็บ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ โดยการกระจายของผื่นมักจะเกิดขึ้น 2 ข้างของร่างกายเท่าๆ กัน
โรคสะเก็ดเงินรักษาได้อย่างไร
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีอาการเห่อและลดลงสลับกันไป โดยระยะเวลาการสงบโรคอาจสั้นเป็นสัปดาห์ หรือยาวนานได้หลายปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการรักษาและปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดดรค ส่วนใหญ่แล้ว โรคสะเก็ดเงินจะสงบลงหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวข้างต้น
ปัจจุบันการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือในรักษาและดูแลตนเองอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ จึงจะสามารถช่วยควบคุมโรคให้สงบ ไม่ให้มีอาการกำเริบ และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้อย่างมีความสุข